Home -> Blog -> “ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Black Jack” การ์ตูนเบื้องหลังการทำงานของอาจารย์ เท็ตสึกะ โอซามุ

“ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Black Jack” การ์ตูนเบื้องหลังการทำงานของอาจารย์ เท็ตสึกะ โอซามุ

Blog เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับ Freeware เลย แต่ผมรู้สึกว่า จิตใจผมเร่าร้อนมาก หลังจากที่อ่านการ์ตูนเรื่องนี้จบ จนผมรู้สึกทนไม่ได้ อยากจะให้ท่านอื่นๆ ที่ชื่นชอบการ์ตูนและหลงใหลในตัว อ.เท็ตสึกะ โอซามุ มาลองดูกันว่า เบื้องหลังงานการ์ตูนของอาจารย์แก เต็มไปด้วย อุปสรรค อะไร และแกก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นไปด้วยอะไรครับ

ก่อนอื่นเลย ผมอยากจะบอกว่า ผมมีงานอดิเรกที่ทำต่อเนื่องมาเกือบๆ 30 ปี นั่นก็คือ การอ่านหนังสือการ์ตูนครับ ตอนเด็กๆ จะซื้อบ่อยมาก โดยอาศัยว่าเก็บเงินจากค่าข้าว ค่าขนมอะไรพวกนี้ ตอนโต พอมีเงินเยอะ ก็เลย ซื้อแบบบ้าคลั่งมาก ซึ่งเวลาอ่านผมก็จะได้รับรู้จากเรื่องท้ายปก ว่าเบื้องหลังการทำงานของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นมันเป็นยังไง

ภาพที่มาชัดเจนมากขึ้นก็ตอนที่ อ. โอบาตะ ทาเคชิ และ อ. ทสึกุมิ โอบะ แกได้วาดเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานของ นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น โดยอาศัยกลิ่นอายของ กองบรรณาธิการ Jump Magazine มาประกอบด้วย ชื่อเรื่องนั้นคือ Bakuman .. เป็นการ์ตูนที่ดังเป็นพลุแตกในบ้านเรา เพราะได้ตีแผ่วงการ นักวาดการ์ตูนญี่ปุ่น ทั้งเรื่องราวการทำงาน การติดต่อประสานงาน ความเป็นมืออาชีพของทั้งนักเขียนการ์ตูนและกองบรรณาธิการ รวมไปถึงมีดราม่า เล็กๆน้อยๆ ค่อยๆเข้ามาผูกเรื่องจนผมยกให้เรื่องนี้เป็น 1 ใน 10 สุดยอด การ์ตูนน่าอ่านของผมเลยครับ

การ์ตูนเรื่อง Bakuman ซึ่งในบ้านเราผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์จะเป็นของค่าย NED Comics นั่นเอง

 

แต่ว่าวันนี้ผมได้ไปเงินงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ ก็ได้แวะไปที่บูธของทาง VBK ครับ ไปสบตากับหนังสือการ์ตูนเล่มนึง มีชื่อว่า “ในวันที่ข้าพเจ้าเขียน Blackjack”

เท่าที่อ่านจากปกหลังดู เหมือนจะเป็นประวัติของ อ.เท็ตสึกะ โอซามุ ที่ถูกบอกเล่าโดยทีมงานที่เคยทำงานด้วยกันมาทั้ง กองบรรณาธิการ ผู้ช่วย ผู้ประสานงาน และสารพัดตำแหน่งซึ่ง แต่ละท่านตอนนี้ เป็นระดับใหญ่โตของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นทั้งสิ้น

อ.เท็ตสึกะ โอซามุ (ภาพจาก Wikipedia)

อ.เท็ตสึกะ โอซามุ เป็นนักวาดการ์ตูนชื่อดังของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นอาจารย์ของนักวาดรุ่นเทพในยุคปัจจุบันอีกหลายท่าน ผลงานของอาจารย์มีมากกว่า 500 เรื่อง ซึ่งเรื่องที่ดังๆในบ้านเราก็จะมี

  • Astro Boy หรือเจ้าหนูอะตอม
  • Black Jack หมอปีศาจ
  • วิหคเพลิง ฮิโนโทริ
  • หนึ่งพันกับหนึ่งทิวา
  • เจ้าหนูสามตา

ซึ่งเพราะผลงานของ อ.เท็ตสึกะ ที่มีมากมาย ทำให้วงการการ์ตูนของญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก และ อาจารย์เองก็ถือเป็น “พระเจ้า” ของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นเลยล่ะครับ

ถ้าอยากรู้ข้อมูลละเอียดๆของ อาจารย์แก ก็ไปดูได้ที่ Wikipedia นะคร้าบ

ยกตัวอย่าง ที่ดังมากๆ ก็มี อาจารย์ เทราซาว่า บูอิจิ ที่วาดคอบร้า , อ.เคนอิจิ โคทานิ ที่วาด Scandal และนักวาดการ์ตูนหญิงชายดังๆอีกมากต่างเคยเป็นผู้ช่วยอ.เท็ตสึกะมาแล้วทั้งสิ้น

 

ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ ก็จะมีเรื่องราว ฮาร์ดคอร์ของการทำงานของ อ.เท็ตสึกะที่เรียกได้ว่า ไม่ยอมโอนอ่อน ต่อความไม่ได้คุณภาพของหลายๆอย่างในการ์ตูนของตัวเอง เช่น ท่าทางการเดินของ Black Jack , ลายของยางรถยนต์ในเรื่อง และทุกๆรายละเอียด ซึ่งผมไม่อยากจะเล่ามาก เพราะเดี๋ยวจะเป็นการ Spoil ความสนุกของหนังสือเล่มนี้

ก็เลยขอบอกเล่าเกร็ดเล็กๆน้อยๆ ที่พอจะทำให้ หลายๆคนอาจจะสนใจวิ่งไปหามาอ่านกันบ้างนะครับ เช่น มีฉากนึงเป็นเรื่องของ กองบรรณาธิการคนใหม่ที่จะต้องมาทำหน้าที่ตามต้นฉบับของ อ.เท็ตสึกะ …

แต่ว่า อาจารย์แกงานยุ่งมาก เพราะจะต้องส่งต้นฉบับให้อีกสำนักพิมพ์ อีก 100 หน้าก่อน จากนั้น ถึงจะเป็นคิวเรื่อง Black Jack .. บก. คนใหม่ก็รออยู่ที่สตูดิโอโดยไม่ไปไหนกว่า 5 วัน เพราะรอคิวเรื่อง Black Jack ..

หลังจากที่อาจารย์แกวาด 100 หน้านั่นเสร็จ แกก็จะมาคุยเรื่องเนื้อเรื่องของ Black Jack กับทางกอง บก. ซึ่งเวลาคุยว่าจะวาดตอนไหน อาจารย์เท็ตสึกะ จะคิดเนื้อเรื่องมาส่ง 4 ตอนเสมอ แล้วค่อยมาเลือกกับ กอง บก. ว่าจะเอาตอนไหนไปเขียน (นั่นแปลว่า ถ้าเกิดอาจารย์แกวาด Black Jack ได้ทุกตอนเนี่ย จะมี Black Jack ให้เราอ่านมากกว่านี้อีก 3 เท่าเลยนะครับ)

กอง บก. มือใหม่คนนี้ แกก็เหมือนตอบแบบ กลัวต้นฉบับส่งไม่ทัน แกเลย ตอบไปว่า “อาจารย์วาดตอนไหนได้เร็วที่สุดครับ” เท่านั้นแหละ แกก็ระเบิดอารมณ์ออกมาแบบในภาพเลย

ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้ว่าอาจารย์แกจะโด่งดัง แต่แกก็ไม่ได้ทำงานสบายนะครับ เพราะแกส่งการ์ตูนเดือนละ 8 เรื่อง!! แต่ละเรื่องก็ดังๆทั้งนั้น ทำให้ตารางการทำงานของแกแน่นอย่างมาก ทำให้เวลาแกวาดการ์ตูนแกก็จะวาดตลอดไม่ได้พัก และการวาดของแก เหมือนจะเอาจริงเอาจังกับทุกๆลายเส้นเลยล่ะ

คือ พออ่านการ์ตูนเรื่องนี้จบ ทำให้ผมรู้สึกนับถือ บรรดานักเขียนการ์ตูนทุกท่านมากขึ้นไปอีก ยิ่งทำงานในยุคของอาจารย์เท็ตสึกะที่ไม่มีทั้ง Fax , โทรศัพท์มือถือ และ อินเตอร์เน็ตยิ่งทำให้ทำงานลำบากกันมากขึ้นอีก พออ่านจบผมก็รู้สึกเลยล่ะครับว่า เราคงต้องพยายาม ทำงานของเราให้ดีมากขึ้น สุดยอดมากขึ้น มันแบบได้ว่าไฟในการทำงานลอยมาอาบร่างยังไง อย่างงั้นเลย

ถ้าใครชอบ เบื้องหลังของวงการ การ์ตูน และยิ่งเป็นแฟนของอาจารย์เท็ตสึกะ ผมขอแนะนำว่า คุณไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้ด้วยประการทั้งปวงครับ

 

Check Also

การเรียนรู้รูปแบบใหม่ของ ม.กรุงเทพ ที่ทำให้อยากกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง

นี่คือความรู้สึกของผมจริงๆ ตอนที่นั่งฟังอยู่ในงานแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตรใหม่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2019 ที่ผ่านมานี่แหละ ต้องเล่าให้ฟังก่อน ที่ ม.กรุงเทพเนี่ย เป็นมหาวิทยาลัยที่จะใช้ Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์ เป็นแกนกลางแล้วนำไปผสานกับเทรนด์อื่นๆของโลก เพื่อสร้างเป็นหลักสูตร …

Leave a Reply